ข่าวประชาสัมพันธ์ สำนักการแพทย์ กรุงเทพมหานคร |
||
ท้องก่อนวัยอันควร ปัญหาระดับประเทศที่ต้องแก้ไข |
||
จากสถิติการคลอดของโรงพยาบาลในสังกัดสำนักการแพทย์ ตั้งแต่ปีงบประมาณ 2552 – 2554 (ตุลาคม 2553 – มิถุนายน 2554) พบว่ามีวัยรุ่นตั้งครรภ์มารับบริการ จำนวน 2,085 ราย , 2,340 ราย และ 1,548 ราย ตามลำดับ ในจำนวนนี้มีภาวะคลอดก่อนกำหนด จำนวน 639 ราย , 669 ราย และ 488 ราย คิดเป็นร้อยละ 30.65 , 28.59 และ 31.52 ตามลำดับ | ||
สำนักการแพทย์ กรุงเทพมหานคร ในฐานะที่เป็นหน่วยงานทางการแพทย์ และสาธารณสุข มีภารกิจสำคัญในการรักษาพยาบาล และการสร้างเสริมสุขภาพที่ดีให้แก่ประชาชนให้มีสุขภาพดี ทั้งทางร่างกาย จิตใจ จิตวิญญาณ และสามารถดำรงชีวิตอยู่ร่วมกันในสังคมได้ด้วยความอบอุ่น และเป็นสุข เล็งเห็นถึงความสำคัญของการป้องกันและแก้ไขปัญหาการตั้งครรภ์ในวัยรุ่น จึงได้จัดโครงการประชุมวิชาการ เรื่อง “วัยรุ่นท้อง : ใจแตกหรือเป็นเหยื่อ” ขึ้น เพื่อเน้นนโยบายการแก้ไขปัญหาในระดับเครือข่าย ซึ่งการป้องกันและแก้ไขปัญหานี้จะประสบความสำเร็จได้ด้วยความร่วมมือจากทุกภาคส่วนในสังคม รวมถึงการประสานงานอย่างมีประสิทธิภาพ |
||
เมื่อวันที่ 20 กันยายน 54 เวลา 09.00 น. พญ.มาลินี สุขเวชชวรกิจ รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร เป็นประธานการประชุมวิชาการ พร้อมปาฐกถาพิเศษ เรื่อง “วัยรุ่นท้อง : ใจแตกหรือเป็นเหยื่อ” ณ ห้องประชุมเทเวศวรวงศ์วิวัฒน์ ชั้น 20 โรงพยาบาลกลาง โดยกล่าวว่า ปัญหาวัยรุ่นตั้งครรภ์เป็นปัญหาที่มีความท้าทายอย่างยิ่ง และเป็นสิ่งที่กรุงเทพมหานครรวมทั้งหน่วยงาน ที่เกี่ยวข้อง ตลอดจนสังคมจะต้องช่วยกันป้องกันและแก้ไขให้หมดไป โดยสาเหตุของปัญหาส่วนหนึ่งเกิดจากการที่เด็กและเยาวชน จำนวนหนึ่งขาดโอกาส หรือไม่สามารถเข้าถึงระบบสวัสดิการพื้นฐานต่างๆ ได้ นำไปสู่ปัญหาทางด้านพฤติกรรม ไม่ว่าจะเป็นปัญหาในเรื่องของการเสพยาเสพติด การติดเกม การติดการพนัน การวิวาททำร้ายกัน และหนึ่งในปัญหา คือ การที่เยาวชนหญิงชายคบหาใกล้ชิดกันเชิงชู้สาวเมื่อยังไม่ถึงวัยอันควร นำไปสู่ปัญหาการตั้งครรภ์ก่อนวัยอันควร ซึ่งหากปล่อยให้ปัญหานี้ดำรงอยู่ต่อไปก็จะส่งผลกระทบในวงกว้าง ไม่ว่าจะเป็นระบบสังคม รวมถึงรัฐสวัสดิการ และลุกลามไปถึงการพัฒนาประเทศในภาพรวม |
||
เวลา 13.00 น. เปิดการอภิปราย เรื่อง วัยรุ่นตั้งครรภ์ : จะช่วย (ป้อง) กันหรือช่วยแก้ โดยมีวิทยากรร่วมอภิปราย คือ พญ.ปริชวัน จันทร์ศิริ (คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย) , คุณบุญล้อม กานต์ศักดิ์สราญ (สหทัยมูลนิธิ) , คุณกนก รัตน์วงศ์สกุล , คุณมีสุข แจ้งมีสุข และคุณแทนคุณ จิตต์อิสระ | ||
จากการประชุมครั้งนี้ พบว่าวัคซีนในการป้องกันที่ดีที่สุด ก็คือความรัก ความอบอุ่นในครอบครัว การสอน และให้ความรู้แก่ลูกๆ แต่เนิ่นๆ เพื่อป้องกันปัญหาการตั้งครรภ์ในวัยรุ่น |
||